บทนำ

            สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดิน (Benthic Macroinvertebrate) ในแหล่งน้ำจืด ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่พักตัวหรือเกาะบนท้องน้ำ หรือฝังตัวอยู่ในตะกอน ส่วนมากเป็นแมลงวัยอ่อนนอกจากนี้ ได้แก่ พวก หอย กุ้งและปู สัตว์เหล่านี้อาจแบ่งย่อยได้ตามลักษณะการหาอาหาร (Mode of Feeding ) เช่น พวกกรองอาหาร (filter feeder) ได้แก่ หอยแครง พวกกินตะกอน (Collector) ได้แก่ หอยโข่ง เป็นต้น (นิตยา, 2538)

            คุณสมบัติทางเคมี และกายภาพของน้ำ มีผลต่อชนิด กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการดำรงชีวิตของสัตว์เหล่านี้ (ชิตชล, 2536)

            จากการศึกษาการกระจายของแมลงน้ำในบางท้องที่ของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า pH ออกซิเจนละลายน้ำ คาร์บอนไดออกไซต์ละลายน้ำ และความเร็วของกระแสน้ำ อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการกระจายของแมลงน้ำ นอกจากนี้ ชนิดของสิ่งยึดเกาะ ( substrate) ก็อาจเป็น ปัจจัยกำหนดการกระจายของแมลงน้ำได้เช่นกัน (ชิตชล, อ้างตาม ภูษณี, 2523)

ความสำคัญของปัญหาและวัตถุประสงค์ของการศึกษา

            เนื่องจากสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดิน มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ จึงมีการนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของแหล่งน้ำได้ (ชัยมงตล, 2526)

            ชัยมงคล (2533) ศึกษาพบว่า ดัชนีความต่างชนิด (Species diversity) ของตัวอ่อนของแมลงชีปะขาวในแหล่งน้ำดีสูงกว่าในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเลวกว่า และพบว่า ตัวอ่อนของแมลงชีปะขาววงศ์ Heptageniidae ในแหล่งน้ำที่สะอาดมากเท่านั้น แสดงว่า แมลงวงศ์นี้ สามารถเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของแหล่งน้ำได้ ในประเทศไทยมีผู้ที่ทำการศึกษาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินในแหล่งน้ำจืดมีหลายท่าน เท่าที่มีรายงานคือ การศึกษาในภาคเหนือที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (Rajchapadee, 1992) ในลำธารบนดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ (สาคร และคณะ, 2533) และในบางท้องที่ของสวนพฤกษาศาสตร์ภาคเหนือ (แม่สา) จ.เชียงใหม่ (ชิตชล, 2536) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศึกษาในลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น (รัชฎาภรณ์ และเสาว์คนธ์ 2535, รัตนา, 2537) ในลำธารห้วยพรมแล้ง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว (อิสระ, 2537) สำหรับภาคใต้ มีการศึกษาแมลงน้ำในป่าพรุ (ศึภฤกษ์, และแมลงน้ำในน้ำตก 16 แห่ง ของภาคใต้ (มนตรี,2537) ซึ่งทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินของประเทศไทยมากขึ้น

            อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเปนภูเขาอันมีที่ราบเป็นยอดเขามีพื้นที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ทางตอนเหนือของที่ราบเป็นป่าดงดิบ และมีหุบเขาลาดต่ำ เป็นต้นกำเนิดของลำธารหลายสาย ซึ่งทุกสายจะรวมเป็นลำน้ำพอง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงหนือ เนื่องจากภูกระดึงมีความสมบูรณ์ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งที่ถูกรบกวนจากมนุษย์ค่อนข้างน้อย และยังไม่รายงานการศึกษาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินในบริเวณนี้ จึงมีความสนใจที่จะศึกษาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินในลำธารของน้ำตก 2 แห่ง คือ น้ำตกวังกวาง และน้ำตกเพ็ญพบใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานทางด้านความหลากหลายของชนิด ความสัมพันธ์ของสัตว์เหล่านี้กับคุณภาพน้ำ และ Substrate ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักของพืช ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้กับจำนวนสัตว์ที่พบ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษา

            1. ทราบและเปรียบเทียบชนิดและจำนวนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินที่พบในบริเวณลำธารน้ำตกวังกวาง และน้ำตกเพ็ญพบใหม่
            2. ทราบ microhabitat ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินและเปรียบเทียบ substrate ที่สัตว์เกาะอาศัยอยู่
            3. ทราบคุณภาพน้ำของน้ำตกวังกวาง และน้ำตกเพ็ญพบใหม่

ขอบเขตของการศึกษา

            ศึกษาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดิน ปัจจัยทางกายภาพ และทางเคมีที่เกี่ยวข้องรวมทั้งชนิดของ Substrate ที่สัตว์อาศัยอยู่

xcounter